ติดดอย คืออะไร? ทำยังไงถึงจะลงดอยได้
ติดดอย คืออะไร? ทำยังไงถึงจะลงดอยได้
ติดดอย เป็นศัพท์ที่นักลงทุนมักใช้หมายถึง การที่เข้าซื้อสินทรัพย์ที่ ณ ราคาหนึ่ง และหลังจากนั้น ราคาของสินทรัพย์ก็ปรับตัวลง และยังไม่กลับไปที่ราคาเดิมที่ซื้อ ก็กลายเป็นว่าราคาที่ซื้อกลายเป็นราคาสูงสุด เปรียบเทียบได้กับการไปติดอยู่บนยอดดอยนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น คุณซื้อ หุ้น A ที่ราคา 100 บาท/ หน่วย แต่หลังจากนั้น ราคาของหุ้น A กลับลดลงเรื่อยๆ จนเหลือ 50 บาท/หน่วย และขึ้นๆ ลงๆ ไปมาโดยไม่กลับมาที่ราคาเดิมที่คุณซื้ออีกเลย สถานการณ์แบบนี้ ก็เรียกได้ว่า ติดดอย นั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้ติดดอย?
มีหลายสาเหตุมากที่ทำให้นักลงทุนติดดอย ซึ่งนี่เป็นบางตัวอย่างของสาเหตุที่ทำให้ติดดอย
-
ซื้อสินทรัพย์ตามกระแส
– คือการเข้าซื้อสินทรัพย์โดยตัดสินใจจากการพบเห็นว่ามีคนนิยมซื้อ โดยไม่ได้วิเคราะห์พื้นฐานของสินทรัพย์ หรือแนวโน้มของตลาดอย่างรอบคอบ
-
ซื้อสินทรัพย์ที่ราคาปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว
– กรณีนี้จะคล้ายๆ กัน เมื่อเห็นการปรับตัวของราคาสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกิดอาการ FOMO (ย่อมาจากคำว่า Fear Of Missing Out) หรือกลัวที่จะพลาดโอกาส โดยไม่วิเคราะห์สาเหตุของการที่สินทรัพย์นั้นปรับราคาขึ้นอย่างรวดเร็ว
-
ตลาดเทขาย แต่ขายสินทรัพย์ไม่ทัน
- ยกตัวอย่างเช่น คุณซื้อหุ้น B ในช่วงที่ราคาค่อนข้างสูง แต่อยู่มาวันหนึ่ง อาจเกิดข่าวในแง่ลบของบริษัทที่ขายหุ้น หรือ โดยภาพรวม นักลงทุนเสียความเชื่อมั่นในหุ้น B และพากันเทขายทิ้งโดยที่คุณขายไม่ทันที่ราคาเดิม จนสุดท้ายราคาของหุ้นก็ลดลงอย่างรวดเร็ว จนสุดท้ายก็กลายเป็นติดดอย
ติดดอยแล้วแก้ไขยังไงดี?
ถ้าคุณกำลังอยู่ในสถานการณ์ของการติดดอย ต้องขอบอกว่าทางลงอาจจะไม่ได้ราบเรียบ แต่ก็มีวิธีที่สามารถแก้สถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ดังนี้
1. ตัดขาดทุน (Cut Loss)
เป็นวิธีที่อาจจะทำใจได้ยาก และควรใช้ต่อเมื่อคาดการณ์แล้วว่า สินทรัพย์ที่ถืออยู่ ไม่มีแนวโน้มจะเพิ่มมูลค่าในอนาคต หรือพื้นฐานของสินทรัพย์ไม่ได้ดีเหมือนเดิม ก็อาจจะต้องจำใจขายเพื่อลดโอกาสในการขาดทุนที่มากขึ้น หรือถ้าให้ดี อาจจะต้องมีการตั้งลิมิตการขาดทุนไว้ตั้งแต่แรก เช่น หากราคาสินทรัพย์ลดลงไปเกิน 20% ก็จะขายทันที
2. ถัวเฉลี่ยราคา
กลับกันจากวิธีแรก หากคุณคาดการณ์ว่า สินทรัพย์ที่ถืออยู่ยังมีอนาคต มีแนวโน้มที่สามารถเติบโตทางมูลค่าได้ แต่ในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความผันผวนในระยะสั้น ก็อาจพิจารณาการทยอยซื้อถัวเฉลี่ยราคา โดยทยอยซื้อสินทรัพย์เพิ่มในราคาที่ต่ำลง เพื่อเป็นการเฉลี่ยต้นทุนรวมให้ลดลง แต่ก็ต้องพิจารณา คาดการณ์ให้ดีว่าความผันผวนนั้น หรือปัจจัยที่กดดันราคาสินทรัพย์ใกล้สิ้นสุดลงหรือยัง เพราะถ้ารีบซื้อเพื่อถัวเฉลี่ยเกินไป ก็กลายเป็นว่าติดดอยอยู่ดี
3. ขายบางส่วน (แล้วนำมาซื้อใหม่)
คล้ายๆ กับการถัวเฉลี่ยราคา แต่เป็นการขายสินทรัพย์ออกบางส่วน เพื่อนำเงินที่ขายได้มาซื้อใหม่ในราคาทุนที่ต่ำลง โดยไม่ต้องเป็นการเพิ่มเงินลงไปในพอร์ตของคุณ
เลี่ยงการติดดอยด้วยวิธีเหล่านี้
ตั้งจุด Stop Loss / Take Profit
สำหรับการลงทุนในระยะสั้น หรือการลงทุนสายเก็งกำไร ควรมีการตั้งจุดที่คาดว่าจะหยุดการขาดทุน (Stop Loss) และจุดที่ต้องการขายเพื่อทำกำไร (Take Profit) เพื่อให้มีขอบเขตให้ทำตามเมื่อเจอกับสถานการณ์ต่างๆ ดีกว่าการปล่อยไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายไม่รู้ว่าต้องขายตอนไหน
เลือกสินทรัพย์ที่ปัจจัยพื้นฐานดี
ก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อสินทรัพย์ นักลงทุนต้องหาข้อมูลสนับสนุนให้มั่นใจว่า สินทรัพย์นั้นมีพื้นฐานที่ดี ถึงแม้จะเจอกับความผันผวนในระยะสั้น แต่ก็คาดหวังได้ว่าสามารถเติบโตในอนาคต
แบ่งซื้อเป็นรอบ
หรือที่มักเคยได้ยินว่า แบ่งซื้อเป็นไม้ๆ โดยไม่ต้องทุ่มเงินซื้อในครั้งเดียว เพื่อให้มีการเฉลี่ยราคาทุนและเป็นการลดความเสี่ยงในการติดดอยได้
สรุป ติดดอย เกิดจากอะไร จะเลี่ยงได้ยังไง
การติดดอย เป็นสถานการณ์ที่น่าปวดหัวและอาจเกิดขึ้นได้กับนักลงทุน แต่หากมีวิธีการแก้ไขที่ดี รวมถึงมีการพิจารณาเลือกซื้อสินทรัพย์อย่างรอบคอบ ก็สามารถรับมือได้กับสถานการณ์การติดดอย
シェア :