เงินเฟ้อ (inflation) คืออะไร? ส่งผลอย่างไรต่อเงินของคุณ
เงินเฟ้อคืออะไร? เราคงเคยได้ยินคำนี้กันบ่อยๆ จากข่าวเศรษฐกิจบ้าง จากกูรูด้านการเงินบ้าง หรืออาจจะได้ยินจากคนรอบตัว แต่ว่าวันนี้ เราขอพาทุกคนไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ว่าจริงๆ แล้วคืออะไร แล้วส่งผลอย่างไรต่อเงินของคุณ
ความหมายของคำว่า เงินเฟ้อ
เงินเฟ้อ คือ ภาวะเศรษฐกิจที่สินค้าหรือบริการ มีราคาสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา หรือในอีกนัยหนึ่งหากพิจารณาจากค่าของเงิน เงินเฟ้อ คือการที่มูลค่าของเงินที่มีอยู่ลดลงจากเดิม ทำให้ต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นในการซื้อของ
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2560 ราคาเฉลี่ยค้าปลีกของเนื้อหมูสันนอก อยู่ที่ 137.50 บาท แต่ในปีนี้ ราคาเฉลี่ย (ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2567) อยู่ที่ 165.00 บาท เท่ากับว่าราคาเนื้อหมูสันนอกสูงขึ้น 27.50 บาท คิดเป็น +20% (ข้อมูลจาก กระทรวงพาณิชย์) และหากนำส่วนต่างของราคามาเปรียบเทียบคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ สิ่งนี้คือ “อัตราเงินเฟ้อ” ของสินค้านั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้เกิด เงินเฟ้อ
สาเหตุหลัก ที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- 1. Cost-push Inflation คือการที่สินค้าราคาสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนที่แพงขึ้น เช่น ค่าแรง ค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง เป็นต้น
- 2. Demand-pull Inflation คือการที่สินค้าราคาสูงขึ้น จากความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้น เช่น ความต้องการใช้น้ำมัน ความต้องการใช้หน้ากากอนามัย ที่มากขึ้น เป็นต้น
และนอกจากนี้ยังมีสาเหตุปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน เช่น นโยบายด้านการเงินของภาครัฐ ที่ส่งผลด้านต้นทุนหรือภาษี หรืออัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลง ทำให้มูลค่าเงินมีค่าลดลงเมื่อต้องมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
ผลกระทบของเงินเฟ้อคืออะไร?
- ผลกระทบต่อผู้บริโภค - เงินเฟ้อ ส่งผลให้เราในฐานะผู้บริโภค ในแง่ของการซื้อสินค้าและบริการได้จำนวนน้อยลง หรือ ใช้เงินมากขึ้นในการซื้อจำนวนหน่วยเท่าเดิมเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา นั่นเพราะสินค้าหรือบริการมีราคาสูงขึ้นนั่นเอง
- ผลกระทบต่อธุรกิจ - กำไรของผู้ผลิตสินค้าหรือบริการอาจลดลง เพราะราคาต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น
- ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ - ภาวะเงินเฟ้อ จะส่งผลต่อความต้องการในการลงทุนที่ลดลง เนื่องจากต้องใช้เงินทุนที่สูงขึ้น รวมถึงส่งผลกระทบในด้านอัตราภาษีที่อาจปรับเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
วิธีรับมือกับเงินเฟ้อ
แน่นอนว่าในการรับมือกับเงินเฟ้อ รวมถึงการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่สูงเกินไป จะต้องเป็นการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ ตั้งแต่การบริหารและนโยบายของภาครัฐ การบริหารจัดการของภาคเอกชน แต่เราในฐานะบุคคลทั่วไป ก็จำเป็นต้องวางแผนรับมือกับเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน
เงินเฟ้อมีแต่ข้อเสียอย่างเดียวหรือไม่?
ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อจะดูส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน แต่ก็ยังมีข้อดีอยู่ เพราะในกรณีที่เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะเงินเฟ้ออ่อนๆ จะเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยไปด้วยในตัว เพราะทำให้ผู้บริโภคเกิดการคาดการณ์ว่าสินค้าหรือบริการจะมีการปรับราคาสูงขึ้นอีกในอนาคต ทำให้ตัดสินใจซื้อตั้งแต่วันนี้ ภาคธุรกิจเกิดการผลิตเพิ่ม ไปจนถึงการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น เปรียบเสมือนการกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วย
นอกจากนี้ภาวะเงินเฟ้อแบบอ่อนๆ จะกระตุ้นให้คนนำเงินไปลงทุน หรือออมมากขึ้น เพราะต้องการให้เงินที่มีอยู่มีมูลค่ามากขึ้น หรือสร้างผลตอบแทนให้มากขึ้นเพื่อหวังในการเอาชนะเงินเฟ้อได้นั่นเอง จึงต้องมีวิธีรับมือกับเงินเฟ้อ ดังนี้
- 1. สร้างรายได้เพิ่ม เพื่อมาเป็นเงินใช้จ่ายเพิ่มเติม ทดแทนมูลค่าเงินได้ที่ลดลง หรือเป็นเงินสำรองในเหตุฉุกเฉิน
- 2. วางแผนการใช้จ่าย ให้ประหยัดลง เพื่อให้ต้นทุนการดำรงชีวิตเหมาะสมกับเงินที่มี หรือรายได้ที่เข้ามา
- 3. วางแผนการลงทุน และการออมเงิน เพื่อให้เงินที่มี สามารถสร้างมูลค่าให้งอกเงยขึ้น และเป็นการ เก็บเงินไว้เพื่อใช้ซื้อสินค้าและบริการในอนาคต โดยไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน
สรุป ทำไมต้องเข้าใจเรื่อง เงินเฟ้อ
ภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลไม่เพียงแต่มูลค่าของเงินในกระเป๋าคุณ แต่ส่งผลต่อทุกภาคส่วน ดังนั้นการเตรียมตัวรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ ในทุกด้าน ทั้งการสร้างรายได้เพิ่ม การวางแผนการใช้จ่าย รวมถึงการวางแผนการออมและมองหาโอกาสการลงทุนที่ดี จะช่วยให้เกิดความมั่นคงของชีวิตในช่วงที่เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นได้
*คำเตือน
กองทุนรวมนี้มีลักษณะเฉพาะและความเสี่ยงเฉพาะ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยงและศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนฯ ในกองทุนรวม SSF ก่อนตัดสินใจลงทุน
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุนตามที่กรมสรรพากรกำหนด
สนใจศึกษาข้อมูลกองทุนได้ที่ https://www.sawakami.co.th/fund/5
ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมและหนังสือชี้ชวนได้ที่ บลจ. ซาวาคามิ (ประเทศไทย) เว็บไซต์ www.sawakami.co.th
หรือ Customer Service โทร 02-081-0525 ถึง 26 หรือ Line Official @sawakamith https://line.me/R/ti/p/@704veymq
Facebook Official : Sawakami Asset Management Thailand https://www.facebook.com/sawakami.th
แชร์ :