เช็กลิสต์ 5 พฤติกรรมเสี่ยงเป็นหนี้!
เช็กลิสต์ 5 พฤติกรรมเสี่ยงเป็นหนี้! คุณเป็นแบบนี้อยู่หรือเปล่า?
ชวนเช็กให้ชัวร์ พฤติกรรมเสี่ยงสร้างหนี้ ทั้ง 5 ข้อนี้ คุณกำลังทำอยู่หรือเปล่า? ในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น และยังรวมถึงการเข้าถึงการช้อปปิ้ง จับจ่ายใช้สอยนั้นง่ายมากๆ บางทีเราก็เผลอใช้ชีวิตแบบไม่ทันคิดซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นหนี้ได้ บลจ.ซาวาคามิ (ประเทศไทย) จึงขอชวนทุกคนเช็กแต่ละข้อไปพร้อมกัน ว่าข้อไหนตรงกับคุณ รวมถึงจะแก้ไขพฤติกรรมเหล่านี้อย่างไร
1. ไม่มีเป้าหมายการใช้เงิน
รู้หรือไม่ว่า ตัวการก่อหนี้ให้คุณโดยไม่รู้ตัว นั่นก็คือการ “ไม่มีเป้าหมายการใช้เงิน” นั่นคือการไม่เคยวางแผน แบ่งสัดส่วนการใช้เงิน ไม่มีสัดส่วนเงินออมที่ชัดเจน ทำให้เมื่อรายได้เข้ามาเท่าไหร่ ก็ใช้ไปตามที่มี จนสุดท้ายก็ไม่มีเงินเหลือเก็บ รวมถึงกระตุ้นให้เราพร้อมจ่าย พร้อมเป็นหนี้เพื่อซื้อสิ่งที่ต้องการด้วยเช่นกัน
วิธีแก้ไข
- หาแรงบันดาลใจ ตั้งเป้าหมายการออม
- แบ่งสัดส่วนการใช้เงินให้ชัดเจน เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เงินออม เงินลงทุน เป็นต้น
2. ไม่รู้ว่าตัวเองมีหนี้เท่าไหร่
หากไม่เคยสนใจเลยว่าในแต่ละเดือน มีภาระหนี้ที่ต้องชำระเท่าไหร่ มียอดหนี้รวมทั้งหมดเท่าไหร่ สุดท้ายก็จะไม่เกิดความตระหนักว่าต้องวางแผนปิดหนี้ยังไง นำไปสู่การเสียดอกเบี้ยทบต้น จนอาจจะไม่สามารถรับมือได้อีกต่อไป
วิธีแก้ไข
- ทำบัญชีรายรับ - รายจ่าย เพื่อให้เห็นยอดเงินที่เข้ามาและรายจ่ายที่ออกไปในแต่ละเดือน เพื่อปรับแผนการใช้เงินให้เหมาะสม
- พยายามจ่ายหนี้ให้ตรงเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระดอกเบี้ยผิดนัด และไม่สร้างหนี้เพิ่มเติม
3. ไม่มีเงินเก็บสำรองฉุกเฉิน
ในวันที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น เช่น อุบัติเหตุ การเจ็บป่วยของตัวเองหรือครอบครัว แต่ไม่มีเงินสำรองไว้ ในกรณีนี้ ก็อาจนำไปสู่การกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินนั่นเอง
วิธีแก้ไข
- แบ่งสัดส่วนเงินเก็บสำรองฉุกเฉินทุกครั้งที่ได้รับจากรายได้
- ทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพเพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการรักษา
4. ยอดหนี้แตะ 45% ของรายได้
ลองรวมหนี้ที่ต้องจ่ายต่อเดือนทั้งหมด แล้วคำนวณโดยใช้สูตรการตรวจสุขภาพทางการเงิน Debt Service Ratio (DSR) ดูว่า มากเกิน 45% ของรายได้หรือเปล่า หากใช่ นั่นแปลว่าสภาพคล่องการเงินอาจมีปัญหา เพราะเงินเดือนเกือบครึ่งหนึ่งถูกจ่ายไปกับหนี้เก่า ซึ่งถ้าต้องคำนวณการเสียภาษี ค่าประกันสังคม หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ในแต่ละเดือนแล้ว อาจเหลือเงินใช้ในชีวิตเพียงน้อยนิด และอาจนำไปสู่การกู้หนี้ยืมสินมาหมุนเวียนในชีวิตได้
วิธีแก้ไข
- พิจารณาจัดการหนี้ด้วยการรวมหนี้กับธนาคาร
- หารายได้เพิ่มเพื่อมาเสริมสภาพคล่อง
5. กู้หนี้ใหม่ มาจ่ายหนี้เก่า
ถ้าคุณเริ่มหาเงินกู้จากแหล่งใหม่มาจ่ายแหล่งเก่า นั่นแปลว่าสถานการณ์ทางการเงินมาถึงขั้นวิกฤติแล้ว และการหมุนเงินในลักษณะนี้มีแต่จะทำให้การจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ และอาจหมดหนทางจนต้องไปกู้เงินนอกระบบที่เจอกับดอกเบี้ยสูงขึ้นไปอีก
วิธีแก้ไข
- ปรึกษาหรือเจรจาขอประนอมหนี้ กับเจ้าหนี้ต่างๆ เช่น ธนาคาร หรือ สถาบันการเงิน เพื่อขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระ ขอประนอมหนี้ ขอลดดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น
การเป็นหนี้ เป็นการนำเงินอนาคตมาใช้ล่วงหน้า และต้องเสียเงินเพิ่มในรูปแบบของอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตไม่มากก็น้อย และนอกจากเช็กลิสต์ รวมทั้งวิธีแก้ไขที่กล่าวมานี้ คุณก็จำเป็นต้องจัดการในอีกหลายๆ ด้านเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ และหลีกเลี่ยงไม่ให้ก่อปัญหาเดิมซ้ำ
จัดการแก้ปัญหาหนี้ยังไงให้อยู่หมัด
ปรับ Mindset
การบริหารจัดการเงิน มีเป้าหมายในการใช้เงินที่ชัดเจน มีการแบ่งเงินออมและลงทุนเพื่อความมั่นคงในอนาคต
ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
การซื้อความสุขให้ตัวเองเป็นเรื่องที่ควรทำ แต่หากบ่อยเกินไป ก็จะทำให้ติดนิสัยใช้จ่ายฟุ่มเฟือยได้ อาจจะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนว่า คุณจะใช้จ่ายเพื่อความสุขเท่าไหร่ต่อเดือน และห้ามใช้เกินจากนั้น
หารายได้หลายช่องทาง
การมีรายได้มากกว่า 1 ช่องทาง จะช่วยเสริมสภาพคล่องการเงิน ให้มีเงินหมุนเวียน เงินเก็บมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นหนี้
จัดลำดับการจ่ายหนี้
เริ่มจากหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงสุดก่อน แล้วไล่ระดับลงมา
สุดท้ายนี้ คุณควรสำรวจและประเมินสถานการณ์การเงินอยู่เสมอ เพราะชีวิตในวันข้างหน้าอาจต้องเผชิญความไม่แน่นอนในหลายด้าน การหมั่นตรวจสอบสุขภาพทางการเงิน ก็เพื่อให้รู้ว่าควรปรับแผนการบริหารเงินอย่างไรให้เหมาะกับสถานการณ์นั้นๆ และคิดหาทางออกเมื่อเจอปัญหา โดยไม่นำไปสู่การเป็น “หนี้”
แชร์ :