ลดหย่อนภาษี สำหรับวัยทำงาน นำวิธีนี้ไปใช้เลย!
ในทุกๆ ปี วัยทำงานหลายคนต้องเผชิญกับภาระในการยื่นภาษี ซึ่งหากมีการวางแผนและใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีอย่างถูกต้อง ก็จะช่วยให้สามารถลดภาระภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้ บลจ.ซาวาคามิ (ประเทศไทย) ขอแนะนำไอเดียการลดหย่อนภาษีปี 2567 ที่เหมาะสำหรับวัยทำงาน เพื่อให้คุณสามารถวางแผนและใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างเต็มที่
ค่าใช้จ่ายส่วนตัวหรือครอบครัวที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้
โดยปกติแล้ว กรมสรรพากรได้กำหนดให้ค่าใช้จ่ายส่วนตัวหรือครอบครัวในบางข้อ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่กำหนดดังนี้
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว – 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ – 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร – สูงสุดไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท (การตั้งครรภ์แฝดจะถูกนับว่าเป็นครรภ์เดียว) และหากทั้งสามีและภรรยายื่นภาษีทั้งคู่ จะให้สิทธิลดหย่อนแก่ภรรยาเท่านั้น
- ค่าลดหย่อนภาษีบุตร - คนละ 30,000 บาท และบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 คนละ 60,000 บาท
- ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา - คนละ 30,000 บาท
- ค่าอุปการะผู้พิการ-ทุพพลภาพ – คนละ 60,000 บาท
*ค่าลดหย่อนแต่ละข้อ จะมีเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์กรมสรรพากร
https://www.rd.go.th/fileadmin/download/tax_deductions_update30072567.pdf
ถึงแม้ว่าจะมีค่าลดหย่อนส่วนตัวหรือครอบครัวแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายวิธีในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีนอกจากที่กล่าวมาดังนี้
วิธีการลดหย่อนภาษีที่คนวัยทำงานควรรู้
ทำประกันสุขภาพ
การทำประกันสุขภาพเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ โดยกรมสรรพากรอนุญาตให้ผู้ที่ทำประกันสุขภาพสามารถนำค่าเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้ในวงเงินที่กำหนด โดยไม่เกิน 25,000 บาท ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับไม่เพียงแต่ช่วยลดภาระภาษี แต่ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้เอาประกันในเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพอีกด้วย
ทำประกันชีวิตและประกันสะสมทรัพย์
สำหรับประกันชีวิตนั้น การทำประกันชีวิตยังคงเป็นทางเลือกยอดนิยมสำหรับการลดหย่อนภาษี โดยผู้ที่ทำประกันชีวิตสามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยต้องเป็นประกันชีวิตที่ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น และกรมธรรม์ต้องมีกำหนดเวลา 10 ปีขึ้นไป โดยหากมีผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี (ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์) ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี
บริจาค
การบริจาคเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ โดยการบริจาคให้กับองค์กรหรือมูลนิธิต่างๆ ที่ได้รับการรับรองจากกรมสรรพากร จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการช่วยเหลือสังคม แต่ยังสามารถลดภาระภาษีของคุณได้อีกด้วย โดยมีเงื่อนไขการลดหย่อนตามประเภทเงินบริจาคที่แตกต่างกันไป
1.) เงินบริจาคทั่วไป – สามารถลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
2.) เงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า - เช่น เงินบริจาคให้สถานศึกษา, กีฬา สถานพยาบาลของรัฐ และเงินบริจาคผ่าน e-Donation สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
3.) เงินบริจาคพรรคการเมือง – สามารถลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท โดยต้องมีเอกสารแสดงคือใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานอื่นๆ ที่พิสูจน์ได้ถึงการบริจาคให้พรรคการเมืองนั้นๆ
ซื้อกองทุนที่ลดหย่อนภาษีได้
การลงทุนในกองทุนที่สามารถลดหย่อนภาษีได้เป็นอีกทางเลือกที่วัยทำงานไม่ควรพลาด ได้แก่
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF): สามารถลงทุนเพื่อสิทธิลดหย่อนภาษีได้ถึง 30 ธ.ค. 2567 เท่านั้น (ปัจจุบันยังไม่มีการต่ออายุกองทุน SSF ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2567) และอย่าลืมการแจ้งความประสงค์ขอลดหย่อนภาษีผ่านทาง บลจ. (สามารถศึกษาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ บลจ.) มิเช่นนั้นจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการซื้อกองทุน SSF ได้ ซึ่งสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามวงเงินที่กำหนดไม่เกินร้อยละ 30 ของรายได้และสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาทซึ่งกองทุนรวมผสมซาวาคามิ ในหน่วยลงทุนชนิดเพื่อการออม (SW-SSF) ที่เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการออมเงินระยะยาวสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นกัน กรณีผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนชนิดนี้หรือกองทุน SSF ต้องการนำเงินลงทุนมาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในปีที่ลงทุน จำเป็นต้องถือครองหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ หากถือครองไม่ครบตามกำหนด นักลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุนตามที่กรมสรรพากรกำหนด
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF): กองทุนที่ส่งเสริมการออมระยะยาวสำหรับวัยเกษียณ ซึ่งสามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของรายได้ และต้องไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับการออมและกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท กรณีผู้ที่ซื้อกองทุน RMF ต้องการนำเงินลงทุนมาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในปีที่ลงทุน จำเป็นต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก และถือครองหน่วยลงทุนจนกว่าอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หากผิดเงื่อนไขการถือครอง นักลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุนตามที่กรมสรรพากรกำหนด
- กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG): การลงทุนในกองทุน Thai ESG ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของรายได้ และสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท กรณีผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนชนิดนี้หรือกองทุน Thai ESG ต้องการนำเงินลงทุนมาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในปีที่ลงทุน จำเป็นต้องถือครองหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ หากถือครองไม่ครบตามกำหนด นักลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุนตามที่กรมสรรพากรกำหนด
- กองทุนอื่นๆ ที่สามารถลดหย่อนได้
กองทุนและมาตรการอื่นๆ ที่สามารถลดหย่อนได้
- กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
- กองทุนอื่นๆ ตามที่กรมสรรพากรกำหนด
- โครงการเที่ยวเมืองรอง
- โครงการช็อปดีมีคืน เป็นต้น
สามารถศึกษาข้อมูลการลดหย่อนเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th/272.html
ข้อควรระวังในการลดหย่อนภาษี
- ตรวจสอบสิทธิ์ในการลดหย่อน: ก่อนยื่นภาษี ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณมีสิทธิ์ในการใช้การลดหย่อนภาษีหรือไม่ เพื่อป้องกันการยื่นภาษีผิดพลาด
- เก็บหลักฐานการชำระเงิน: การเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงินหรือการบริจาคเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อใช้เป็นหลักฐานหากมีการตรวจสอบจากกรมสรรพากร
- ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี: หากไม่มั่นใจในสิทธิ์การลดหย่อน ควรปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเพื่อความถูกต้องและเพื่อป้องกันการผิดพลาด
สรุป ลดหย่อนภาษีในวัยทำงาน ดีอย่างไร?
การลดหย่อนภาษีไม่เพียงแต่ช่วยให้วัยทำงานสามารถลดภาระในการจ่ายภาษีได้ แต่ยังช่วยให้คุณมีโอกาสในการออมเงินและการลงทุนในระยะยาว นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้มีการวางแผนการเงินที่ดี ทำให้คุณมีความมั่นคงทางการเงินในอนาคตอีกด้วย
สนใจศึกษาข้อมูลกองทุนได้ที่ https://www.sawakami.co.th/all-fund
ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมและหนังสือชี้ชวนได้ที่ บลจ. ซาวาคามิ (ประเทศไทย) เว็บไซต์ www.sawakami.co.th
หรือ Customer Service โทร 02-081-0525 ถึง 26 หรือ Line Official @sawakamith https://line.me/R/ti/p/@704veymq
Facebook Official : Sawakami Asset Management Thailand https://www.facebook.com/sawakami.th
แชร์ :