เงินบาทอ่อนค่า, เงินบาทแข็งค่า คืออะไร? ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง?

16/12/2567
เงินบาทอ่อนค่า, เงินบาทแข็งค่า คืออะไร? ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง?

เงินบาทอ่อนค่า, เงินบาทแข็งค่า คืออะไร? ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง?

เงินบาทอ่อนค่า เงินบาทแข็งค่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินบาท กับสกุลเงินอื่นๆ ซึ่งทั้งสองสถานการณ์นี้ ส่งผลดีและผลกระทบที่แตกต่างกันไป บลจ. ซาวาคามิ (ประเทศไทย) ขอพาไปรู้จักกับความหมายของเงินบาทอ่อนค่า และ เงินบาทแข็งค่า ว่าจริงๆ แล้วหมายถึงอะไร และส่งผลอย่างไรต่อเราบ้าง

 

เงินบาทอ่อนค่า คืออะไร?

เงินบาทอ่อนค่า เป็นสถานการณ์ที่ เงินบาทมีมูลค่าลดลง เมื่อนำไปเทียบกับสกุลเงินอื่น ซึ่งส่งผลให้สามารถแลกซื้อเงินสกุลอื่นได้น้อยลง

 

ตัวอย่างเช่น จากที่เคยใช้เงิน 100 บาท เพื่อแลกซื้อเงินสกุล A ได้ 10 หน่วย แต่ในเวลาต่อมา เงิน 100 บาทเท่าเดิม กลับซื้อเงินสกุล A ได้เพียง 8 หน่วย สถานการณ์ที่เงินบาทมีมูลค่าลดลงจนแลกซื้อเงินสกุลอื่นได้น้อยกว่าที่เคย นั่นคือ “เงินบาทอ่อนค่า” ลง

 

เงินบาทแข็งค่า คืออะไร

เงินบาทแข็งค่า เป็นสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามกับเงินบาทอ่อนค่า นั่นก็คือ การที่เงินบาท มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อไปเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ทำให้สามารถนำเงินบาทจำนวนเท่าเดิม ไปแลกซื้อเงินสกุลอื่นได้จำนวนมากขึ้น

 

ตัวอย่างเช่น เงิน 100 บาท สามารถแลกซื้อเงินสกุล A ได้ 10 หน่วย แต่ในสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า เงิน 100 บาทเท่าเดิม กลับซื้อเงินสกุล A ได้ 12 หน่วย เป็นต้น

 

สาเหตุที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า หรือ แข็งค่า

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินมีราคาขึ้นลง นั่นคือการเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยด้านอุปสงค์ - อุปทาน หากสกุลเงินไหนเป็นที่่ต้องการของตลาดโลกมากขึ้น ค่าเงินก็จะแข็งตัวตาม แต่หากมีความต้องการขายเงินสกุลนั้นๆ มาก ค่าเงินก็จะอ่อนตัวลง  แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการแข็งตัวหรืออ่อนตัวของค่าเงิน เช่น

 

  • อัตราดอกเบี้ย - การเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้ามามากขึ้นเพราะได้ผลตอบแทนที่ดี ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น กลับกันการลดอัตราดอกเบี้ย ก็ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากการที่ได้ผลตอบแทนน้อยลง อัตราดอกเบี้ยจึงส่งผลต่อความต้องการซื้อหรือขายเงินบาท

 

  • ด้านการค้า - หากมีการเกินดุลการค้า (ส่งออกมากกว่านำเข้า) ทำให้เงินบาทเป็นที่ต้องการมากขึ้นและส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า แต่หากมีขาดดุลการค้า (นำเข้ามากกว่าส่งออก) ทำให้เงินบาทเป็นที่ต้องการน้อยลง และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง

 

  • นโยบายการเงินของธนาคารกลาง - การเพิ่ม/ลดสัดส่วนเงินสำรองขั้นต่ำ หรือการซื้อขายเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณเงินบาทในระบบลดลงหรือเพิ่มขึ้น ก็ส่งผลต่อการแข็งค่าหรืออ่อนค่าเช่นกัน

 

 

เงินบาทอ่อนค่า, เงินบาทแข็งค่า ส่งผลอย่างไร?

 

1. ด้านการส่งออกและนำเข้า

เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น สินค้าจากไทยก็จะแพงขึ้น ส่งผลให้การส่งออกอาจลดลง แต่ในขณะเดียวกันก็แปลว่า สามารถขายสินค้าส่งออกในราคาที่สูงขึ้นได้ ในขณะที่หากค่าเงินบาทอ่อนตัวลง การส่งออกก็มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเพราะต่างประเทศมีกำลังซื้อที่สูงขึ้นตามค่าเงิน แต่การนำเข้าสินค้าจะน้อยลงเนื่องจากราคาสินค้าต่างประเทศสูงขึ้น

 

2. การท่องเที่ยว

เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติสูงขึ้น และอาจส่งผลให้การท่องเที่ยวน้อยลง แต่เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง ก็อาจทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายที่ถูกลงนั่นเอง

 

3. ตลาดหุ้น

หากค่าเงินบาทแข็งขึ้น นักลงทุนจากนอกประเทศก็มีแนวโน้มที่จะลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ในทางกลับกันหากเงินบาทอ่อนค่าลง ก็ส่งผลให้มีการดึงเงินลงทุนกลับไป ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยต่ำลง

 

4. เงินเฟ้อ

การแข็งค่าของเงินบาท จะช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ เพราะทำให้สินค้านำเข้ามีราคาถูกลง แต่การอ่อนค่าของเงินบาทจะเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ เพราะสินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น

 

5. อัตราดอกเบี้ย

โดยทั่วไปแล้ว หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น ธนาคารกลางจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ในขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลง ธนาคารมักจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

 

เงินบาทอ่อนค่า เงินบาทแข็งค่า ใครได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้?

 

เงินบาทอ่อนค่า ใครได้ประโยชน์

  • ผู้ส่งออกสินค้าและบริการ - จะได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง เนื่องจากสินค้าและบริการจะราคาถูกลงต่อกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ ทำให้มีโอกาสส่งออกได้มากขึ้น

 

  • ผู้ที่มีรายได้จากต่างประเทศ - เมื่อเงินบาทอ่อนตัวลง ผู้ที่มีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

 

เงินบาทแข็งค่า ใครได้ประโยชน์

  • ผู้นำเข้าสินค้าและบริการ - เมื่อค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้น ราคาสินค้าและบริการจากต่างประเทศจะมีราคาถูกลง ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าได้

 

  • ผู้บริโภคทั่วไป - ทำให้สามารถซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศในราคาที่ถูกลงได้

 

  • ผู้ที่มีหนี้สินต่างประเทศ - เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น ผู้มีหนี้สินเป็นสกุลเงินต่างประเทศ ใช้เงินบาทในการชำระหนี้สินในจำนวนน้อยลง

 

  • นักลงทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ - นักลงทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ เพราะทำให้ใช้เงินบาทแลกซื้อเงินสกุลต่างประเทศได้มากขึ้นเพื่อนำไปลงทุน

 

สรุป เงินบาทอ่อนค่า เงินบาทแข็งค่า ส่งผลกระทบอย่างไร?

 

การที่อัตราแลกเปลี่ยนมีความเปลี่ยนแปลง จากบทความข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ต่างๆ ที่กล่าวไว้มากน้อยแค่ไหน และในฐานะนักลงทุน การเข้าใจเรื่องเงินบาทอ่อนค่า หรือ เงินบาทแข็งค่า จะช่วยให้รับมือและวางแผนการลงทุนให้เหมาะกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น

 


 

สนใจศึกษาข้อมูลกองทุนได้ที่ www.sawakami.co.th/all-fund

ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมและหนังสือชี้ชวนได้ที่ บลจ. ซาวาคามิ (ประเทศไทย) เว็บไซต์ www.sawakami.co.th

หรือ Customer Service โทร 02-081-0525 ถึง 26 หรือ Line Official @sawakamith https://line.me/R/ti/p/@704veymq

Facebook Official : Sawakami Asset Management Thailand https://www.facebook.com/sawakami.th

 


 

อ้างอิง [1] [2] [3] [4] [5]

แชร์ :

020-810-525

Facebook

Line

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้นและเพื่อให้ท่านได้รับการบริการที่ดีที่สุด นโยบายการใช้คุกกี้