เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่อง สำหรับกองทุนรวมผสมซาวาคามิ
เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องคืออะไร?
เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการกับความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวมเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องและคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนทุกท่าน และลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายแก่ของทุนรวมจากการขาดสภาพคล่อง นอกจากนี้ยังช่วยลดโอกาสในการเกิดความเสียหายต่อเนื่องต่อระบบในวงกว้าง ซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติสากลในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของกองทุนรวม
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซาวาคามิ (ประเทศไทย) จำกัด (ในฐานะบริษัทจัดการ) ได้กำหนดการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องสำหรับกองทุนรวมผสมซาวาคามิ ดังนี้
1.) Anti-Dilution Levies-ADLs: การเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม เพื่อให้สะท้อนต้นทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุน
ตัวอย่างของการใช้เครื่องมือ Anti-Dilution Levies-ADLs
บริษัทจัดการจะพิจารณาใช้ Anti-Dilution Levies-ADLs ในวันที่มูลค่าการขายคืนหน่วยลงทุนสุทธิ (Net Redemption) ≥ 10% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากผู้ขายคืนหน่วยลงทุนทุกท่านที่ทำการซื้อขายในวันดังกล่าวสูงสุดไม่เกิน 2% ของมูลค่าหน่วยลงทุน ซึ่งค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บนี้จะเก็บคืนเข้ากองทุนรวมเพื่อสะท้อนต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายทรัพย์สินของกองทุนรวมที่เกิดขึ้น
2.) Notice Period: การกำหนดระยะเวลาที่ต้องให้ผู้ถือหน่วยลงทุนแจ้งล่วงหน้าก่อนการขายคืนหน่วยลงทุน
ตัวอย่างของการใช้เครื่องมือ Notice Period
บริษัทจัดการมีนโยบายให้ผู้ถือหน่วยลงทุนท่านใดที่ต้องการขายคืนหน่วยลงทุนเกินกว่า 5 ล้านบาท ผู้ถือหน่วยลงทุนต้องส่งคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันทำการ เพื่อให้บริษัทจัดการสามารถวางแผนในการขายทรัพย์สินของกองทุนเพื่อชำระคืนหน่วยลงทุนได้ในราคาที่เหมาะสม ทั้งนี้หากวันที่บริษัทจัดการต้องทำรายการตามคำสั่งล่วงหน้าที่ได้รับไว้แล้ว เป็นวันที่บริษัทจัดการมีการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องอื่นร่วมด้วย บริษัทจัดการจะใช้เครื่องมือบริหารสภาพความเสี่ยงคล่องอื่นกับคำสั่งล่วงหน้าที่ได้รับไว้แล้วจากการใช้ Notice period ด้วยเช่นกัน
3.) Redemption gate: การกำหนดเพดานการขายคืนหน่วยลงทุนทั้งหมดในแต่ละวันทำการ
ตัวอย่างของการใช้เครื่องมือ Redemption gate
บริษัทจัดการอาจพิจารณากำหนดเพดานการขายคืนหน่วยลงทุน (Redemption Gate) ในวันที่มีมูลค่าการขายคืนหน่วยลงทุนสุทธิ (Net Redemption) สูงกว่าระดับที่กำหนดไว้ (อย่างน้อย 10% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV)) เมื่อมีการใช้เครื่องมือนี้ ผู้ที่ส่งคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนในวันดังกล่าวจะได้รับการการจัดสรรค่าขายคืนหน่วยลงทุนตามสัดส่วน (pro-rata basis) ของจำนวนมูลค่าตามเพดานที่บริษัทจัดการรับซื้อคืน อย่างไรก็ตาม หากบริษัทจัดการพิจารณาแล้วว่ากองทุนรวมมีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุน รวมถึงกองทุนรวมไม่มีความจำเป็นต้องเร่งขายทรัพย์สินของกองทุนรวมในราคาที่ไม่เหมาะสม บริษัทจัดการอาจพิจารณาไม่กำหนดเพดานในการขายคืนหน่วยลงทุน
4.) Side Pocket: การแยกหลักทรัพย์ที่มีปัญหาด้านสภาพคล่องออกจากทรัพย์สินโดยรวมของกองทุนรวม
ตัวอย่างของการใช้เครื่องมือ Side Pocket
บริษัทจัดการจะใช้ Side Pocket ในกรณีที่ทรัพย์สินที่มีนัยสำคัญที่กองทุนรวมลงทุนมีปัญหาด้านสภาพคล่อง หรือไม่สามารถขายทรัพย์สินได้ในราคาที่เหมาะสม หลังจากได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์ บริษัทจัดการจะทำการบันทึกรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน และแยกทรัพย์สินดังกล่าวออกไปในบัญชีแยก (Side Pocket) และบันทึกมูลค่าทรัพย์สินนั้นเป็น 0 ซึ่งหากภายหลังทรัพย์สินนั้นสามารถจำหน่ายได้ ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ทะเบียน ณ วันที่ดำเนินการใช้ Side Pocket จะมีสิทธิได้รับเงินคืนจากการขายทรัพย์สินนั้น ทั้งนี้ บริษัทจัดการอาจพิจารณาจ่ายคืนผู้ถือหน่วยเป็นทรัพย์สินได้ (Pay-in-kind) ในกรณีที่บริษัทจัดการพิจารณาว่าการจ่ายคืนผู้ถือหน่วยเป็นทรัพย์สินอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยมากกว่า เนื่องจากทรัพย์สินที่ขาดสภาพคล่องดังกล่าวไม่สามารถจำหน่ายได้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
5.) Suspension of Dealings: การระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนชั่วคราว
ตัวอย่างของการใช้เครื่องมือ Suspension of Dealings
บริษัทจัดการอาจพิจารณาประกาศระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนชั่วคราว เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวมในวันที่ยอดการขายคืนหน่วยลงทุนสุทธิ (Net Redemption) หรือยอดการขายคืนหน่วยลงทุนสุทธิสะสมย้อนหลัง 5 วันทำการ ≥ 40% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) หรือไม่สามารถคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวมได้อย่างเป็นธรรมและเหมาะสม หรือเหตุการณ์อื่นใดตามที่ระบุไว้ในโครงการของกองทุนรวม ซึ่งหลังจากได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์แล้ว บริษัทจัดการจะหยุดรับการซื้อขายหน่วยลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 5 วันทำการ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากทางสำนักงาน ก.ล.ต. อย่างไรก็ตาม การระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนชั่วคราวจะถูกดำเนินการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์และความเป็นธรรมของผู้ถือหน่วยทุกท่าน ทั้งผู้ถือหน่วยที่ทำการซื้อขายและผู้ถือหน่วยที่ไม่ได้ทำการซื้อขายในช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงเพื่อลดความเสี่ยงด้านการขาดสภาพคล่องของกองทุนรวมและความเสียหายต่อระบบการเงินในวงกว้าง
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซาวาคามิ (ประเทศไทย) จำกัด จะพิจารณาเลือกใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวมอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของกองทุนรวมและผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญ
ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกท่านสามารถตรวจสอบเครื่องมือบริหารสภาพคล่องได้ในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวม หรือศึกษารายละเอียดของเครื่องมือบริหารสภาพคล่องของกองทุนรวม ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ที่ SmartToInvest รู้จัก Liquidity Management Tools (LMTs) เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม
หมายเหตุ :
บทความนี้ได้จัดทำขึ้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษโดยมีเนื้อหาที่เหมือนกัน ในกรณีที่มีความคลาดเคลื่อนหรือไม่สอดคล้องกันระหว่างสองเวอร์ชัน ให้ถือเวอร์ชันภาษาไทยเป็นเวอร์ชันที่เชื่อถือได้และถูกต้อง
ข้อมูลอ้างอิง:
- แนวปฏิบัติการใช้เครื่องมือบริหารสภาพคล่อง (Liquidity Risk Management Tools Guideline) ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
- ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทน. 11/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวม เพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุน ประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล
จัดทำโดย ฝ่ายบริหารความเสี่ยงการลงทุน
25 ก.ค. 2566
แชร์ :